top of page

ขอขอบคุณที่ไว้วางใจให้หมอคณินทร์ ดูแลการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม

คุณจะได้รับการผ่าตัดโดย หมอคณินทร์​ และทีมสหสาขา ที่มีความชำนาญในการผ่าตัด และดูแลหลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า ข้อสะโพกเทียม 

พวกเรามีความมุ่งมั่น และตั้งใจให้การรักษาในครั้งนี้ประสบความสำเร็จ ด้วยความราบรื่น และสะดวกสบาย

บทความในหน้านี้จะเป็นแนวทางในการเตรียมตัวก่อนเข้ารับการผ่าตัด เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมีความพร้อมก่อนผ่าตัดมากที่สุด

เตรียมพร้อมก่อนผ่าตัด

ผู้ป่วยหลายคนมักมีความกังวล แม้ว่าจะตัดสินใจผ่าตัดแล้วก็ตาม

การเตรียมความพร้อมทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และมีความเข้าใจเกี่ยวกับการผ่าตัดที่ถูกต้องจะช่วยลดความกังวลของผู้ป่วยลงได้

เบอร์โทรศัพท์ที่จำเป็น

ติดต่อเรื่องนัดตรวจ

  • คลินิกพิเศษ Premium  โทร  074-281-823

  • คลินิกนอกเวลาราชการ  โทร  074-451-707  ติดต่อหลัง 13.00

  • คลินิกในเวลาราชการ    โทร  074-451-752  ติดต่อหลัง 13.00

ติดต่อเรื่องการนอนโรงพยาบาล

  • ผ่าตัดระบบพิเศษ Premium      โทร  074-451-883

  • ผ่าตัดในเวลาราชการ ผู้ป่วยชาย  โทร  074-451-620 

  • ผ่าตัดในเวลาราชการ ผู้ป่วยหญิง โทร  074-451-630 

ท่าบริหารก่อนการผ่าตัด

h9991894_001.jpg

การบริหารกล้ามเนื้อต้นขา​

  • นั่งเก้าอี้ที่มีพนักพิง ให้ก้นและหลังพิงพนัก

  • เหยียดเข่าตรงให้สุด และค้างไว้ 10 วินาที

  • วางขาลง และบริหารเข่าอีกข้างสลับกัน

  • บริหารข้างละ 30 ครั้ง เช้า เที่ยง เย็น

กล้ามเนื้อมัดนี้มีความสำคัญในการเดินหากผู้ป่วยมีกล้ามเนื้อมัดนี้แข็งแรง จะช่วยให้เดินได้ดี และเดินได้เร็วหลังผ่าตัด

aro-2-hip-750-1.jpg

อาหารที่ควรรับประทาน

การรับประทานอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วน ถูกสุขลักษณะ จะช่วยให้กระบวนการหายของแผลผ่าตัดดีขึ้น 

  • ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว

  • รับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูง เนื่องจากการใช้ยาแก้ปวดหลังผ่าตัดทำให้ท้องผูกได้ การรับประทานอาหาร เช่น ฝรั่ง มะละกอ แอปเปิ้ล แครอท มะเขือพวง ผักบุ้ง คะน้า จะช่วยลดอาการท้องผูกหลังผ่าตัดได้ 

  • รับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง เช่น เนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ อาหารทะเล ไข่แดง ผักใบเขียว เนื่องจากธาตุเหล็ก เป็นแร่ธาตุสำคัญในการผลิตเม็ดเลือดแดง ทดแทนเลือดที่สูญเสียไปจากการผ่าตัด

  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างน้อย 48 ชม.ก่อนผ่าตั

  • ควรงดสูบบุหรี่อย่างน้อย 6 สัปดาห์

  • วันก่อนผ่าตัดควรทานอาหารที่ย่อยง่าย และมีคาร์โบไฮเดรตสูง

ยาที่ใช้ประจำ

ต้องแจ้งคุณหมอหากรับประทานยาต้านเกร็ดเลือด หรือยาละลายลิ่มเลือด เนื่องจาต้องหยุดยาก่อนผ่าตัดอย่างน้อย 7 วัน 

ชื่อยาที่ใช้บ่อยที่ต้องหยุดได้แก่

  • Aspirin (ยกเว้น aspirin 81 mg ไม่ต้องหยุด)

  • Warfarin

  • Clopidogrel

  • Cilostazol (Pletal)

ยาประจำตัวอื่นให้รับประทานตามปกติ ยกเว้นเช้าวันผ่าตัดไม่ต้องรับประทานยาประจำ ยกเว้นวิสัญญีแพทย์เป็นผู้สั่งยาให้

การเตรียมบ้าน และผู้ดูแล

  • ในช่วงเดือนแรกหลังผ่าตัดการขึ้นลงบันไดอาจจะทำได้ลำบาก เนื่องจากยังต้องใช้อุปกรณ์ช่วยเดินร่วมด้วย การจัดห้องนอนให้อยู่ชั้นล่าง แต่หากจำเป็นต้องอยู่ชั้นบน อาจจะต้องจัดให้อยู่ในชั้นที่มีห้องน้ำ เพื่อจะได้ไม่ต้องขึ้นลงบันไดบ่อย 

  • ควรจัดบ้านให้เรียบร้อย ทางเดินที่กว้าง แสงสว่างเพียงพอ เพื่อป้องกันการหกล้ม

  • ผู้ป่วยสามารถเดินภายในบ้าน หลังกลับจากรพ.​ สามารถเดินเข้าห้องน้ำ อุ่นอาหาร เพื่อช่วยเหลือตัวเองได้ อาจต้องการผู้ดูแลเพื่อหาอาหาร หรือปรุงอาหารไว้ก่อน ผู้ป่วยจะเดินได้ดีขึ้น ไกลขึ้นเรื่อยๆ และสามารถเดินได้โดยไม่ต้องใช้ไม้เท้า ในช่วง 2-4 สัปดาห์หลังผ่าตัด

วันก่อนผ่าตัด

การบริหารกล้ามเนื้อสะโพก

  • นอนตะแคงบนพื้นราบ

  • กางขาออก โดยให้ขาเหยียดตรง 

  • นับค้างไว้ 10 วินาที

  • บริหารข้างละ 10 ครั้ง เช้า เที่ยง เย็น

กล้ามเนื้อมัดนี้มีความสำคัญในการเดินหากผู้ป่วยมีกล้ามเนื้อมัดนี้แข็งแรง จะช่วยให้เดินได้ดี และเดินได้เร็วหลังผ่าตัด

iron2.jpg
503174-PHQ9SK-981.jpg
246268-P3J4UT-612.jpg

  • วันที่ต้องมานอนโรงพยาบาล

    • ผู้ป่วยผ่าตัดในเวลา ต้องมานอนรพ.​ก่อนวันผ่าตัด 1 วัน

    • ผู้ผ่วยผ่าตัดพิเศษ premium สามารถเลือกได้ว่าจะนอนก่อนผ่าตัด 1 วัน หรือเช้าวันผ่าตัด (ให้มานอน รพ. 7.00 ของวันผ่าตัด)

  • งดน้ำงดอาหาร อย่างน้อย 8 ชม 

    • สำหรับผู้ป่วยผ่าตัดในเวลา งดน้ำ และงดอาหารหลังเที่ยงคืน​

    • สำหรับผู้ป่วยผ่าตัดพิเศษ premium ที่มีคิวผ่าตัดช่วงเช้า งดน้ำ และงดอาหารหลังเที่ยงคืน

    • สำหรับผู้ป่วยผ่าตัดพิเศษ Premium ที่มีคิวผ่าตัดช่วงบ่าย งดน้ำ และงดอาหารหลัง 5.00 น. ของวันผ่าตัด

  • นำยาที่รับประทานประจำทั้งหมดมา ในวันที่นอน โรงพยาบาล​

  • ห้องพิเศษ

    • ผู้ผ่วยผ่าตัดพิเศษ premium จะได้นอนห้องพิเศษทุกรายโดยไม่ต้องติดต่อศูนย์จองห้องพิเศษ

    • ผู้ป่วยผ่าตัดในเวลา สามารถจองห้องพิเศษ โดยติดต่อศูนย์จองห้องพิเศษก่อนวันผ่าตัด แต่จะได้ห้องพิเศษหรือไม่ ขึ้นกับว่ามีห้องพิเศษว่างหรือไม่ในวันที่นอน โรงพยาบาล

วันผ่าตัด

2224.jpg

  • ช่วงเช้า 6.00 - 7.00 น.

    • พยาบาลจะเจาะเลือด และให้สารนำ้ทางเส้นเลือด เพื่อลดความอ่อนเพลียขณะอดอาหาร รอการผ่าตัด

  • การผ่าตัด 

    • ใช้เวลาอยู่ในห้องผ่าตัดโดยรวมประมาณ 3-4 ชั่วโมง แต่ระยะเวลาในการผ่าตัดจริงประมาณ​ 2-2.5 ชั่วโมง

    • ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะได้รับการระงับความปวด ด้วยการบล็อกหลัง เนื่องจากเป็นวิธีที่ปลอดภัยกับผู้ป่วยมากที่สุด

    • ผู้ป่วยจะได้รับการใส่สายสวนปัสสาวะในห้องผ่าตัด หลังจากวิสัญญีแพทย์ทำการระงับความปวดเรียบร้อย จะได้ไม่เจ็บขณะใส่สายสวนปัสสาวะ

    • หมอคณินทร์ ผ่าตัดโดยใช้เทคนิคที่ไม่ต้องใส่สายระบายเลือด เพื่อให้ผู้ป่วยมีความสะดวกในการบริหาร และเดินหลังผ่าตัด และเย็บแผลด้วยไหมละลายทั้งหมด จึงไม่ต้องตัดไหม

  • หลังผ่าตัด

    • ผู้ป่วยจะถูกส่งไปถ่ายภาพ x-ray เพื่อตรวจสอบความเรียบร้อยหลังผ่าต้ด​

    • ผู้ป่วยจะได้รับการฉีดยาระงับปวดทุก 3 ชั่วโมง หากผู้ป่วยยังรู้สึกปวดสามารถแจ้งพยาบาลเพื่อขอเพิ่มยาแก้ปวดได้ทันที 

    • หลังผ่าตัดให้ผู้ป่วยยกขาข้างที่ผ่าตัดให้สูงกว่าระดับหน้าอก และประคบเย็นบริเวณที่ผ่าตัด

    • ผู้ป่วยสามารถ เหยียดงอ ข้อเข่าได้ทันทีหลังผ่าตัด และสามารถลุกนั่งข้างเตียงเพื่อรับประทานอาหารเย็นได้

    • แนะนำให้ผู้ป่วยดื่มน้ำให้เพียงพอ โดยดูจากสีของปัสสาวะที่ออกมาทางสายสวนปัสสาวะ ถ้าปัสสาวะสีเหลืองจางแสดงว่าดื่มน้ำเพียงพอ ถ้าปัสสาวะสีเข้มแสดงว่าต้องดื่มน้ำเพิ่มมากขึ้น

หลังผ่าตัดวันที่ 1

  • ช่วงเช้า 6.00 - 7.00 น.

    • พยาบาลจะเอาสายน้ำเกลือ และสายสวนปัสสาวะออกเพื่อให้ผู้ป่วยลุกนั่ง หัดเดินได้สะดวกมากขึ้น

  • ช่วงสาย

    • คุณหมอจะให้นั่งข้างเตียง เพื่อเริ่มฝึกบริหารข้อเข่า และสอนหัดเดินด้วย walker ในกรณีที่ผู้ป่วยพร้อมเดินในช่วงเช้า 

  • ช่วงบ่าย

    • ผู้ป่วยจะไปฝึกเดิน และรับ walker ที่แผนกกายภาพบำบัด

  • ข้อควรปฏิบัติ

    • ผู้ป่วยควรฝึกเหยียดเข่าให้ตรง งอเข่าให้ได้มากที่สุด ฝึกปฏิบัติชั่วโมงละ 1 เซ็ต ใช้เวลาประมาณ​ 10-15 นาที แล้วนอนพักยกขาสูง เพื่อป้องกันขาบวม 

    • การฝึกเหยียดงอเข่าช่วงแรกอาจจะมีเจ็บที่แผลผ่าตัด หลังจากฝึกบ่อยๆ ความเจ็บปวดจะลดลงตามลำดับ

    • ฝึกเดินเข้าห้องน้ำด้วย walker และมีญาติอยู่ใกล้ๆ ทุกครั้ง ไม่ควรเดินเองโดยไม่มีใครดูแล หากญาติไม่อยู่ต้องแจ้งพยาบาลเพื่อช่วยดูแลครับ เพื่อป้องกันการหกล้ม

    • เวลาพักอยากให้ผู้ป่วยนอนพัก มากกว่าการนั่งห้อยขา เพื่อป้องกันขาบวม

    • ดื่มน้ำให้เพียงพอ

IMG_2709.JPG

หลังผ่าตัดวันที่ 2

  • วันนี้จะเป็นวันแรกที่ ผู้ป่วยจะไม่ได้รับยาแก้ปวดแบบฉีดแล้ว

    • หากผู้ป่วยไม่ปวดแผลมาก เหยียดเข่าได้ตรง งอเข่าได้ดี เดินได้ดี สามารถกลับบ้านช่วงเย็นได้ 

    • คุณหมอจะเปิดแผลเพื่อทำแผล ก่อนกลับบ้าน และเปลี่ยนเป็นวัสดุปิดแผลที่กันน้ำ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถอาบน้ำได้

    • การดูแลจะเหมือนกับวันหลังผ่าตัดวันที่ 1

  • ข้อควรปฏิบัติ

    • ผู้ป่วยควรฝึกเหยียดเข่าให้ตรง งอเข่าให้ได้มากที่สุด ฝึกปฏิบัติชั่วโมงละ 1 เซ็ต ใช้เวลาประมาณ​ 10-15 นาที แล้วนอนพักยกขาสูง เพื่อป้องกันขาบวม 

    • การฝึกเหยียดงอเข่าช่วงแรกอาจจะมีเจ็บที่แผลผ่าตัด หลังจากฝึกบ่อยๆ ความเจ็บปวดจะลดลงตามลำดับ

    • ฝึกเดินเข้าห้องน้ำด้วย walker และมีญาติอยู่ใกล้ๆ ทุกครั้ง ไม่ควรเดินเองโดยไม่มีใครดูแล หากญาติไม่อยู่ต้องแจ้งพยาบาลเพื่อช่วยดูแลครับ เพื่อป้องกันการหกล้ม

    • เวลาพักอยากให้ผู้ป่วยนอนพัก มากกว่าการนั่งห้อยขา เพื่อป้องกันขาบวม

    • ดื่มน้ำให้เพียงพอ

IMG_5985.JPG

วันกลับบ้าน

  • 90% ของผู้ป่วยจะกลับบ้านวันที่ 3 หลังผ่าตัด และประมาณ 10% จะกลับบ้านวันที่ 2 หลังผ่าตัด

    • ก่อนกลับบ้านผู้ป่วยจะต้องงอเข่าได้อย่างน้อย 90 องศา เดินเข้าห้องน้ำกับ walker ได้ด้วยตนเอง  และไม่ต้องใช้ยาแก้ปวดชนิดฉีด

    • ผู้ป่วยที่ยังไม่ได้รับการเปลี่ยนแผล จะได้รับการเปลี่ยนแผลในวันนี้ก่อนกลับบ้าน ผู้ป่วยบางคนมีข้อสงสัยว่าทำไมถึงไม่ทำแผลทุกวัน ในกรณีที่แผลแห้งดี แนวทางการดูแลแผลของหมอคณินทร์​ คือ ทำแผลให้น้อยที่สุดเพื่อลดการปนเปื้อน นำเชื้อโรคจากภายนอกเข้าสู่แผล แต่ในกรณีที่แผลมีเลือดซึมก็จะทำการเปลี่ยนแผลบ่อยขึ้นครับ

    • หลังจากเปลี่ยนแผลด้วยวัสดุกันนั้ำแล้ว ผู้ป่วยสามารถอาบน้ำได้ ซับแผ่นปิดแผลให้แห้ง ผู้ป่วยจะได้รับวัสดุปิดแผลสำรองกลับบ้าน 1 แผ่น

    • ผู้ป่วยจะได้รับบัตรนัดเพื่อมาตรวจดูแผล การขยับของข้อเข่า 2 สัปดาห์หลังผ่าตัด

  • ข้อควรปฏิบัติ

    • ผู้ป่วยควรฝึกเหยียดเข่าให้ตรง งอเข่าให้ได้มากที่สุด ฝึกปฏิบัติชั่วโมงละ 1 เซ็ต ใช้เวลาประมาณ​ 10-15 นาที แล้วนอนพักยกขาสูง เพื่อป้องกันขาบวม 

    • ไม่ควรนั่งห้อยขาเป็นเวลานาน 

    • ประคบเย็นที่เข่าบ่อยๆ 

    • ดื่มน้ำให้เพียงพอ

Link อ่านเพิ่มเติม

bottom of page